รวมฮิต 10 เกมบน PS1 ที่ปังในไทย แต่แป้กในต่างแดน

รวมฮิต 10 เกมบน PS1 ที่ปังในไทย แต่แป้กในต่างแดน

เพื่อนๆ หลายคนคงจะเคยมีช่วงเวลาที่ได้สัมผัสกับเกมบนเครื่อง PlayStation หรือ PS1 กันมาไม่มากก็น้อยนะครับ โดยในอดีตนั้นเจ้าเครื่องนี้ได้สร้างความทรงจำดีๆ กับเหล่าเกมเมอร์ในไทยเอาไว้มากมาย ซึ่งมีอยู่หลายเกมครับที่ฮิตกันในบ้านเรา ชนิดที่ว่าไม่ว่าบ้านไหน หรือไปแวะร้านเช่าเล่นที่ไหนๆ ก็มักจะเจอเกมนั้นเกมนี้เปิดเล่นกันอยู่ประจำ และในบรรดาเกมเหล่านั้นก็มีอยู่ไม่น้อยที่ฮิตเปรี้ยงปร้างในไทย แต่ดันสวนทางกับยอดขายที่ต่างประเทศและกระแสจากนักรีวิวเมืองนอก ทั้งนี้ ในแง่ของยอดขายที่ไม่เป็นไปตามความนิยมในไทยก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนัก เพราะใครที่เคยผ่านยุค PS1 มาก็คงทราบกันดีว่ายุคนั้นคนไทยเล่นแต่แผ่นผีซีดีเถื่อนกันทั่วบ้านทั่วเมือง ยอดขายเลยไปไม่ถึงผู้ผลิตกัน รอบนี้ทีมงาน play กับ Online Station ก็เลยรวบรวม 10 เกม PS1 สุดฮิตในไทย…แต่ตกม้าตายที่ต่างแดน มาให้เพื่อนๆ ได้รำลึกกันครับว่ามีเกมอะไรกันบ้าง มาชมกันเลยดีกว่า!

Chocobo Racing
ผู้พัฒนา – Squaresoft (ปัจจุบันคือ Square Enix)
เริ่มวางจำหน่าย – 18 มีนาคม 2542

เกม Chocobo Racing นั้นมีองค์ประกอบภายในเกมหลายๆ อย่างที่เหมือนเป็นการนำ Final Fantasy ที่เป็นซีรีส์คู่บุญของตัวเองมาผสมผสานกับ Mario Kart ซีรีส์แข่งรถโกคาร์ทชื่อดังจากค่าย Nintendo และก็แน่นอนว่าเมื่อเกมนี้วางจำหน่าย มันย่อมถูกนำไปเปรียบเทียบกับ Mario Kart อย่างช่วยไม่ได้ ซ้ำร้ายที่นักรีวิวในตะวันตกต่างรุมสับว่าเกมนี้เป็นเกมที่มีสีสันแต่ดูหยาบในด้านกราฟิก แถมดีไซน์รูปแบบสนามแข่งก็ไม่มีชั้นเชิง หรือแม้แต่การบังคับก็ยังสู้ Mario Kart ไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้ยอดขายในตะวันตกจึงออกมาต่ำมาก ขนาดที่ว่ายอดขาย 3 แสนชุดในญี่ปุ่นก็ยังไม่อาจช่วยพยุงหน้าตาให้เกมนี้ไว้ได้ แต่ดูเหมือนคำวิจารณ์และยอดขายในเมืองนอกจะไม่ค่อยสะเทือนกับเกมเมอร์ชาวไทยครับ เพราะตามร้านเช่าเล่นเครื่อง PS1 ในสมัยนั้นจะพบเห็นเด็กวัยเกรียนนั่งเล่นเกมนี้กันจนชินตา

Monster Rancher / หรือชื่อ Monster Farm ในเวอร์ชั่นญี่ปุ่น
ผู้พัฒนา – Tecmo (ปัจจุบันคือ Koei Tecmo)
เริ่มวางจำหน่าย – 24 กรกฎาคม 2540

เกมแนวสร้างมอนสเตอร์สุดแหวกแนว ที่มีระบบเฉพาะของเกมคือโหมดสร้างมอนสเตอร์ด้วยแผ่น CD อื่น โดยเมื่อเข้าโหมดดังกล่าว เกมจะหยุดลงชั่วคราวเพื่อให้ผู้เล่นนำแผ่นซีดีอะไรก็ได้ที่มีข้อมูลอยู่ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นซีดีเพลง ซีดีหนัง ซีดีเกมอื่น หรือแม้แต่ซีดีที่มีแต่ไฟล์งานของเราเข้าไปในเครื่อง PS1 แล้วปิดฝา สักพักเกมก็จะทำการอ่านข้อมูลในแผ่นซีดีที่เราใส่ไป จนประมวลผลออกมาเป็นมอนสเตอร์สายพันธุ์ต่างๆ ตามชนิดของข้อมูลในแผ่นซีดีนั้นๆ ซึ่งเกมนี้จะได้รับคะแนนรีวิวจากต่างประเทศค่อนข้างสูง แต่ที่แป้กจริงๆ คือยอดขายในซีกโลกตะวันตกครับ โดยเฉพาะภาคหลังๆ จะยิ่งทิ้งช่วงจากวันวางจำหน่ายเวอร์ชั่นญี่ปุ่นนานมากกว่าจะมีเวอร์ชั่นอังกฤษออกมา กระทั่งซีรีส์นี้ได้ผันไปลงให้กับสมาร์ทโฟนและดับไปในที่สุด ส่วนในเมืองไทยนั้นช่วงที่พีคสุดก็คือภาคแรกนี่แหละครับ เด็กที่มี PS1 อยู่กับบ้านก็น่าจะได้ลองขนเอาแผ่นซีดีทุกแผ่นในบ้านมาลองสุ่มสร้างมอนสเตอร์กันจนหมดวันกันไปเลย

Jackie Chan: Stuntmaster
ผู้พัฒนา – Radical Entertainment
เริ่มวางจำหน่าย – 29 มีนาคม 2543

ในอดีตที่ผ่านมา เกมที่ดัดแปลงจากหนังฮอลลีวู้ด หรือเกมที่ใช้นักแสดงฮอลลีวู้ดมาเป็นต้นแบบนั้นมักจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก ด้วยเหตุนี้ ยุคสมัยนั้นเราจึงไม่ค่อยเห็นดาราชื่อดังคนไหนจะเอาชื่อเสียงตัวเองมาทิ้งให้เหล่าเกมเมอร์ล้อเลียนกันเล่นสนุกปากกันเท่าไหร่ ซึ่งเกม Jackie Chan: Stuntmaster ก็เป็นอีกเกมที่ต้องการจะลบคำสบประมาทนั้น ด้วยการนำเทคโนโลยี Motion Capture เข้ามาใช้เป็นเกมแรกๆ เพื่อให้ตัวละครเฉินหลงในเกมมีการออกแอ็กชั่นต่างๆ ที่สมจริง ถึงแม้ว่ายอดขายและคะแนนรีวิวของเกมนี้ในต่างประเทศจะไม่สู้ดีนัก แต่ในเมืองไทยเรากลับสามารถพบเห็นลูกเล็กเด็กแดงหยิบเกมนี้มาเล่นเพลินๆ กันอย่างแพร่หลาย และเหมือนจะเป็นการทำให้คนไทยรู้จักเฉินหลงกันมากขึ้นด้วย

Bloody Roar II
ผู้พัฒนา – Eighting
เริ่มวางจำหน่าย – 28 มกราคม 2542

ซีรีส์ Bloody Roar จะเป็นเกมแนวไฟท์ติ้งที่มีความแตกต่างจากเกมไฟท์ติ้งซีรีส์อื่นๆ ตรงที่ตัวละครทุกตัวจะสามารถแปลงร่างเป็นสัตว์ป่าชนิดต่างๆ ซึ่งเมื่ออยู่ในร่างสัตว์ป่า (เรียกว่า Beast Mode) ก็จะมีพละกำลังและความเร็วที่สูงขึ้น มีท่าไม้ตายใหม่ๆ ให้ใช้ ตลอดจนสามารถฟื้นพลังชีวิตได้บางส่วน โดยในไทยก็จะมีเด็กๆ วัยเกรียนจนถึงเด็กวัยมหาลัยนั่งเล่นกันตามบ้านและร้านเช่าเล่นกันเกลื่อนครับ ทว่าภาค 2 นี้ที่คนไทยต่างยกให้เป็นภาคที่มันส์ที่สุดกลับมียอดขายที่ดูไม่สวยหรูเอาเสียเลย แถมมิหนำซ้ำยังเจอนักวิจารณ์จากตะวันตกอย่าง GameSpot และ Famitsu ของญี่ปุ่นให้คะแนนค่อนข้างต่ำ ด้วยเหตุผลเชิงเทคนิคที่ตัวเกมไม่มีองค์ประกอบครบถ้วนที่เหมาะกับผู้เล่นสายฮาร์ดคอร์นั่นเอง (ช่วงนั้นสายฮาร์ดคอร์จะไปทาง Street Fighter, Tekken หรือ The King of Fighters มากกว่า)

Pepsiman
ผู้พัฒนา – KID
เริ่มวางจำหน่าย – 4 มีนาคม 2542

Pepsiman เป็นเกมแนวแอ็กชั่น ที่ผู้เล่นมีหน้าที่บังคับพ่อหนุ่ม Pepsiman ให้คอยหลบสิ่งกีดขวางที่อยู่ตรงหน้า โดยที่เกมจะบังคับให้เราวิ่งตลอดทาง ซึ่งการหลบสิ่งกีดขวางนั้นสามารถทำได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการสไลด์ การวิ่งแบบสปรินท์ รวมไปถึงการกระโดด เป็นต้น ระหว่างทางจะมีกระป๋องเป๊ปซี่ให้เก็บ ซึ่งกระป๋องเหล่านี้ก็จะเป็นคะแนนที่เกมจะคำนวณให้เมื่อวิ่งไปถึงเส้นชัย ในทางกลับกัน กระแสของเกมนี้ในไทยเป็นอะไรที่ค่อนข้างสวนทางกับสิ่งที่ตัวเกมได้รับจากนานาประเทศอย่างสิ้นเชิงครับ แม้ว่าทางนิตยสาร Famitsu ของญี่ปุ่นได้ให้คะแนนนี้เพียง 25 จากเต็ม 40 แต่บรรดาคนเล่นจากเมืองไทยกลับมองว่า Pepsiman เป็นเกมที่เล่นเอาเพลินๆ แบบไม่ต้องคิดอะไรมากมาย จนมองข้ามความพื้นๆ เกินไปของมันที่เป็นข้อเสียในสายตานักรีวิวไปซะงั้น บรรดาร้านขายแผ่นผี PS1 เลยฟันกำไรคนเล่นไปบานเบอะ จนน่าคิดเล่นๆ อยู่ว่าถ้าคนไทยเริ่มหันมาเล่นแผ่นแท้กันมากขึ้นเหมือนในยุคนี้ ค่าย KID ที่พัฒนาเกมนี้อาจไม่ถึงคราวล้มละลายเร็วกว่าเวลาอันควรก็เป็นได้ (ฮา)

Silent Bomber
ผู้พัฒนา – CyberConnect
เริ่มวางจำหน่าย – 28 ตุลาคม 2542

Silent Bomber เกมแนวแอ็กชั่น 3D ที่แปลกประหลาดเพราะในต่างประเทศแทบจะเป็นเกมที่คนลืมไปว่าเคยมีตัวตน แต่ตอนเกมนี้วางจำหน่ายในประเทศไทยกลับได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางจนหลายๆ คนต้องหันมาสนใจและติดงอมแงมกันไป ตัวเกมเราจะรับบทเป็น จูต้าห์ หน่วยรบพิเศษที่ต้องเข้าไปทำลายฐานทัพของศัตรูนามว่าดันเต้ ตัวเกมอาจดูเหมือนเกมแนวแอ็กชั่นทั่วไป แต่ความพิเศษก็คือการที่ตัวเอกของเกมเน้นวางระเบิด หรือหากบอกให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ มันเป็น Bomberman ภาคที่เป็นเกมแอ็กชั่นขนานแท้ นอกจากนี้ จูต้าห์ยังสามารถผสมระเบิดเพื่อทำระเบิดพิเศษอีกมากมายไว้จัดการศัตรู เนื่องด้วยความสะใจในการทำลายล้างศัตรูจนดูเป็นเกมฟอร์มยักษ์ ทำให้เกมได้รับความนิยมในประเทศไทยอย่างไม่น่าเชื่อ แต่สำหรับในตลาดต่างประเทศแล้ว เกมนี้แป้กสนิท ก่อนที่ภายหลัง CyberConnect จะไปได้ดีและโด่งดังกับซีรีส์ .hack และ Naruto Ninja Storm

Dokapon!: Okori no Tetsuken
ผู้พัฒนา – Asmik Ace Entertainment
เริ่มวางจำหน่าย – 5 พฤศจิกายน 2541

อภิมหาเกมทำลายมิตรภาพของชาวไทย หากใครอยากตัดสัมพันธ์กับเพื่อนอย่างรวดเร็ว นี้คือตัวเลือกที่ยอดเยี่ยมที่สุด Dokapon!: Okori no Tetsuken เป็นภาคที่ 2 ของซีรีส์ Dokapon ซึ่งเราจะรับบทเป็น 1 ในนักรบที่ต้องเข้าไปกอบกู้โลกจากจอมมาร ซึ่งแม้รูปแบบรวมๆ จะเป็นเกม RPG ที่มีการเก็บเลเวล ฆ่าศัตรู และซื้อไอเทม แต่ว่าเกมจะใช้รูปแบบการเล่นแบบเกมทอยลูกเต๋า เดินตามช่องแทนการเดินแบบอิสระ ทั้งหมดนี้คือไฮไลท์ของเกม เพราะเราไม่จำเป็นที่จะต้องตีศัตรู แต่เราจะตีเพื่อนเราเพื่อกลั่นแกล้งมันไม่ให้ได้รับชัยชนะได้ อารมณ์เหมือนพวกบอร์ดเกมนั่นแหละครับ มีตั้งแต่การยิงเวท หรือบุกตีขโมยของ ยึดเมืองเพื่อน และยังมีเหตุการณ์พิเศษที่มีทั้งผลดีกับเรา กลั่นแกล้งเพื่อน ยันเราเป็นฝ่ายซวยเสียเอง อีกทั้งเกมยังสนับสนุนสำหรับบ้านคนที่ไม่มีจอย 2 ให้สามารถควบคุมตัวละครทั้งหมดด้วยจอยเดียวได้อีกด้วย เรียกว่าเป็นเกมที่ทำมาเพื่อเรียกเพื่อนเข้าบ้าน แต่ในทางกลับกันก็เป็นเกมทำให้เพื่อนเราไม่คิดจะเหยียบบ้านเราด้วยเช่นกัน สำหรับยอดขายของเกมนี้ในญี่ปุ่นถือว่าพอคาบเส้นแบบฉิวเฉียด จนมีการทำภาคต่อมาได้อีกระยะหนึ่ง ซึ่งแม้จะมีภาคที่ลงให้กับเครื่อง PS2 และทำเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษบนเครื่องดังกล่าวออกมาด้วย แต่ยอดขายในฝั่งตะวันตกยังไม่มากพอที่จะเข็นซีรีส์นี้ในตลาดนานาชาติได้

Bust a Groove / หรือชื่อ Bust a Move ในเวอร์ชั่นญี่ปุ่น
ผู้พัฒนา – Metro Graphics
เริ่มวางจำหน่าย – 29 มกราคม 2541

ท่ามกลางกระแสเกมเต้นจับจังหวะลูกศรอย่าง Dance Dance Revolution ที่กำลังมาแรงในช่วงเวลานั้น ทำให้ไม่ค่อยจะมีคู่แข่งไหนอยากจะต่อกรด้วยการทำเกมแนวคล้ายๆ กันมาประชัน แต่แล้วก็มีเกม Bust a Groove ที่ขอสอดแทรกด้วยการนำเสนอเกมเต้นแนวใหม่ที่เป็นการประชันลวดลายบนฟลอร์กันไฟแลบ ซึ่งผู้เล่นทั้งสองฝ่ายจะต้องกดปุ่มทิศทางบน D-Pad ตามลูกศรที่ขึ้นมาบนแถบให้ครบบรรทัดแล้วจึงจบท่าด้วยปุ่มวงกลมหรือกากบาท โดยต้องแข่งกันกดท่าให้เสร็จก่อนเพื่อเร่งสะสมเกจ นอกจากนี้ยังมีลูกเล่นในการก่อกวนผู้เล่นฝั่งตรงข้าม และผู้ที่ถูกก่อกวนก็ยังมีโอกาสกดปุ่มเพื่อป้องกันตัวเองได้ด้วยหากกดถูกจังหวะ เป็นที่น่าเสียดายที่ยอดขายของเกมนี้ในโซนตะวันตกนั้นไม่ค่อยดีครับ บางกระแสมีความเห็นว่าการที่ชื่อเกมถูกเปลี่ยนเป็น Bust a Groove ในตลาดตะวันตกอาจมีส่วนทำให้ตัวเกมไม่เป็นที่น่าจดจำเท่าชื่อ Bust a Move แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยยอดขายของภาคแรกในยุโรปที่ไม่ไหวจะเคลียร์ ทำให้ Bust a Groove ภาค 2 จึงไม่ถูกนำไปวางจำหน่ายในทวีปยุโรปอีกเลย และภาค 3 ของเกมที่ใช้ชื่อว่า Dance Summit 2001 ก็วางจำหน่ายแค่ในญี่ปุ่นเท่านั้นด้วย ส่วนในไทยค่อนข้างจะอินดี้กับกระแสโลกครับ เรียกได้ว่าฮิตกันพอๆ กับเกม Dance Dance Revolution กันเลย แม้องค์ประกอบในตัวเกมจะแตกต่างกันมากก็ตาม

Fighting Force
ผู้พัฒนา – Core Design
เริ่มวางจำหน่าย – 31 ตุลาคม 2540

Fighting Force เป็นเกมแนวแอ็กชั่นสไตล์ Beat' em Up (อารมณ์ประมาณ Final Fight หรือ Streets of Rage) ที่ทาง Core Design หมายมั่นว่าจะเป็นซีรีส์บุกเบิกเกมแนวนี้ด้วยกราฟิกแบบโพลิกอน 3D ให้ได้ ตัวเกมจะมีตัวละครให้เลือกทั้งหมด 4 คน ซึ่งแต่ละคนก็จะมีค่าพลังและความสามารถแตกต่างกัน และเมื่อเลือกตัวละครแล้วก็ต้องออกไปลุยกับฝูงศัตรูที่จะมารุมเราเป็นระลอก โดยที่ระหว่างต่อสู้ในฉากก็จะมีไอเทมฟื้นพลังหรืออาวุธทุ่นแรงให้เก็บด้วย อนึ่ง ในขณะนั้นด้วยความที่เกมแนวนี้ที่เป็นกราฟิกแบบ 3D ยังมีตัวเลือกไม่มาก เกมเมอร์ชาวไทยก็เลยหันมาเล่นเกมนี้เอาเพลินๆ แล้วก็ติดกันงอมแงมในเวลาต่อมา ซึ่งสวนทางกับคะแนนรีวิวจากสำนักดังๆ ทั่วโลก อาทิ IGN ที่ให้คะแนนเกมนี้เพียง 5.5 / 10 หรือแม้แต่ GameSpot ก็ยังให้แค่ 5.3 / 10 แถมยอดขายก็เรียกได้ว่าผ่านเกณฑ์ได้ทำภาคต่อแบบหวุดหวิด สุดท้ายซีรีส์นี้ก็ไปไม่รอดและจอดเพียงแค่ภาค 3 บนเครื่อง PS2 กับ Xbox ไปโดยปริยาย แต่เกมเมอร์ไทยหาได้แคร์ไม่ เมื่ออยู่ในยุคแผ่นผีเรืองอำนาจซะขนาดนั้น

Poy Poy
ผู้พัฒนา – Konami
เริ่มวางจำหน่าย – 12 มิถุนายน 2540

เห็นมีซีรีส์ดังๆ ในมืออย่าง Metal Gear, Silent Hill, Castlevania และ Winning Eleven แบบนี้ ทาง Konami ก็เคยทำเกมแนวปาร์ตี้มินิเกมบน PS1 มาก่อนนะครับ โดย Poy Poy เป็นเกมแบบมัลติเพลเยอร์ที่เล่นได้ตั้งแต่ 2-4 คน ซึ่งผู้เล่นแต่ละคนเมื่อเลือกตัวละครแล้วก็ต้องหยิบจับวัตถุในฉากมาเขวี้ยงใส่ผู้เล่นคนอื่นๆ จนกว่าจะเหลือผู้ชนะเพียงคนเดียว นอกจากนี้ก็จะมีโหมดแท็กทีมที่แบ่งเป็นทีมละ 2 คนเช่นกัน และระหว่างที่ต่อสู้กันก็จะมีกับดักภายในฉากที่จะคอยก่อกวนผู้เล่นทุกคนด้วย ซึ่งก็ต้องหาทางหลบกันดีๆ จึงไม่แปลกที่เกมนี้จะถูกจริตเกมเมอร์ชาวไทยที่จะได้แกล้งเพื่อนกัน เรียกว่าเป็นอีกเกมทำลายมิตรภาพชั้นยอด สุดท้ายแล้วเส้นทางของเกมนี้ก็ไปจอดเพียงแค่ภาค 2 ครับ สืบเนื่องจากยอดขายที่ไปไม่รอดนั่นเอง แต่ในไทยก็นิยมเล่นเกมนี้กันเป็นบ้าเป็นหลังอยู่ โดยเฉพาะร้านเช่าเล่นเกมที่มีอุปกรณ์ต่อพ่วงคอนโทรลเลอร์ให้เล่นได้พร้อมกัน 4 คนก็จะมีเด็กๆ ไปเลือกเล่นเกมนี้กันอยู่บ่อยๆ

คำที่เกี่ยวข้อง

weskerTH
weskerTH
OS newsletter

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้

Quick Menu